บัตรสมาร์ทการ์ด ชนิดไม่สัมผัสกับหัวอ่าน (Contactless) เป็นแบบบัตรพร็อกซิมิตี้คือหัวอ่านบัตรสามารถอ่านบัตรในระยะห่างได้ มีระยะอ่านบัตรได้ไกลขึ้นและมีความสามารถอื่นๆมากขึ้น บัตรสมาร์ทการ์ดประเภทนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น มีความปลอดภัยมาก การทำสำเนาบัตรทำไม่ได้ สามารถเก็บข้อมูลได้บนบัตรสำหรับการใช้งานที่จำเพาะ บัตรสมาร์ทการ์ดมีหลายประเภท ส่วนหนึ่งได้ถูกรับรองให้เป็นมาตรฐาน ISO เช่น ISO 14443 Type A (Mifare) เป็นต้น ซึ่งทำให้มีผู้จำหน่ายเป็นจำนวนมาก ไม่เกิดการผูกขาด และเป็นผลให้มีราคาถูกลงเรื่อยๆ ราคาของบัตรขึ้นกับความจุข้อมูลบนบัตรและความสามารถอื่นๆของบัตร
บัตรชนิดนี้อยู่ในกลุ่ม RFID (Radio Frenquency Identification) ซึ่งมีชิปอิเล็กทรอนิกส์และเสาอากาศบรรจุอยู่เช่นกัน ทำงานที่ย่านความถี่ 13.56 MHz โดยมีวิธีการเข้ารหัสข้อมูล การส่งสัญญาณ และการเก็บข้อมูลที่ยอมรับเป็นมาตรฐาน ISO อันหนึ่ง บัตรสมาร์ทการ์ดนี้จัดเป็นอุปกรณ์ด้านการรักษาความปลอดภัย จึงนำมาเป็นบัตรประจำตัว บัตรโดยสาร บัตรเงินสด บัตรผ่านทางเข้าออก บัตรที่จอดรถ และอื่นๆอีกมาก บัตรนี้ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับการทำงานหลายอย่างร่วมกันบนบัตรใบเดียวได้ (Multi-appliaction) การใช้งานทำได้ทั้งอ่านข้อมูลและเขียนข้อมูลลงในบัตร มีผู้นำบัตรมาใช้ในลักษณะร่วมกันได้ (Open-Loop) เช่น เป็นบัตรประจำตัวนักศึกษาและบัตรเครื่องถอนเงินด่วน เป็นต้น การใช้งานบัตรประเภทนี้จำเป็นต้องใช้หัวอ่านและระบบควบคุมที่มีความสามารถมากกว่าบัตรพร็อกซิมิตี้แบบเดิม |